21 November 2012

@kimookko I


สวัสดีค่ะ @kimookko นะคะ
มาขอแชร์ประสบการณ์ของตัวเองตามคำขอของคุณ @depme

เกริ่นก่อนว่าตัวเองคลุกคลีกับคนที่มีภาวะซึมเศร้า
ต้องปรึกษาจิตแพทย์เนี่ยค่อนข้างเยอะ
เนื่องด้วยอาชีพ (เภสัชกร) และเรื่องส่วนตัวด้วย

สำหรับตัวเองก็เคยเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามาก่อน และได้รับการรักษา
จนปัจจุบันก็นับว่าหายได้แล้ว
มีน้องที่เคยถูกวินิจฉัยว่าเป็นไบโพล่าร์ (Bipolar disorder)
มีเพื่อนน้องที่เป็นบูลิเมีย เนอโวซ่า (Bulimia nervosa) (ไว้จะค่อยเล่าทีหลัง)

เข้าเรื่องของตัวเอง ขอเกริ่นก่อนว่าก่อนที่จะเป็นโรคซึมเศร้านั้น
เราค่อนข้างเสี่ยงต่อโรคพอสมควร
เพราะปกติเป็นคนชอบอยู่คนเดียว อ่านหนังสือเงียบๆ เพื่อนไม่ค่อยเยอะ
ที่สำคัญเป็นเด็กเรียนดีมาตั้งแต่เด็ก ได้ที่หนึ่งตลอด
พอมาเรียนมัธยมก็ติดท็อปๆ ของโรงเรียน ปกติจะได้เกรดเฉลี่ย 3.8-4.0
ค่อนข้างจะเป็นคนเอาจริงเอาจังกับชีวิต เมื่อตอนเด็กบางทีทำการบ้านไม่ได้
ก็ต้องพยายามนั่งทำให้ได้

หลังจากเป็นโรคซึมเศร้าเนี่ยแหละ จึงเริ่มปล่อยวางอะไรๆ ได้มากขึ้น
สิ่งที่คนที่เป็นโรคซึมเศร้าต้องเผชิญเหมือนกันทุกคนเลยก็คือ
การใช้ชีวิตประจำวันเริ่มเป็นเรื่องลำบาก การเรียนเริ่มยาก
ไม่อยากไปเรียน ไม่อยากคุยกับใคร ไม่อยากสุงสิงกับใคร เราก็เช่นกัน

จุดเริ่มต้นในการรักษา แหล่งข้อมูลหลักก็คือคุณแม่ที่เป็นคนตัดสินใจพาเราไปหาหมอ
แม่เล่าให้ฟังว่า สาเหตุที่พาเราไปหาหมอเนื่องจาก
ตอนนั้น ประมาณ ม.5 เรามีพฤติกรรมผิดปกติไป เงียบ ขังตัวเองอยู่ในห้อง
อารมณ์รุนแรง พอตกกลางคืนบางวันก็กรี๊ด ไม่ไปโรงเรียน
เพื่อนโทรมาก็ไม่รับโทรศัพท์ จนแม่คิดว่า ไม่ได้การแล้ว
ต้องพาเราไปพบจิตแพทย์ ก็ไปหาหมอที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งใกล้บ้าน

คุณหมอก็ให้ยามาจำได้ว่าเป็น fluoxetine เป็นยาต้านอาการซึมเศร้า
ออกฤทธิ์เพิ่มสารสื่อประสาทที่ชื่อว่าเซโรโทนินในสมอง
กับ diazepam ที่ช่วยลดอาการวิตกกังวล และทำให้หลับได้ในตอนกลางคืน
ก็กินยาไปเรื่อยๆ ช่วงแรกหมอก็นัดอาทิตย์ละครั้ง
ต่อมาพอเริ่มอยู่ตัวก็เริ่มนัดห่างเป็นเดือนละครั้งบ้าง
ซึ่งนอกจากโรงพยาบาลเอกชนแห่งนี้แล้ว เรายังได้ไปปรึกษาจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
ที่โรงพยาบาลบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ก็ไปหาหมอสองที่ควบคู่กัน
แม่บอกว่าพอได้รับการรักษา กินยา อาการก็ดีขึ้น เหวี่ยง หงุดหงิดก็น้อยลง

แต่ผลจากการซึมเศร้าก็ทำให้การเรียนแย่ลง
เกรดเฉลี่ย ม. 6 ของเราเหลืออยู่ประมาณ 3.5 ได้
โชคดีที่เราได้เข้ารับการรักษาเร็ว ที่บ้านเข้าใจสภาวะที่เราเป็น และคอยดูแลตลอด
ทำให้เราสามารถเอ็นท์ติดคณะเภสัชศาสตร์ได้
แต่พอเข้ามหา'ลัยก็ต้องปรับตัว ต้องไปอยู่หอ มีกลุ่มเพื่อนใหม่ เปลี่ยนสังคม
ทำให้อาการที่ดูจะดีขึ้น แย่ลงกว่าเดิม
ตอนนั้นเราแทบไม่ไปเรียนจนเพื่อนๆ คิดว่าเราซิ่ว เข้าเรียนเฉพาะวิชาแลปที่มีการเช็คชื่อ

บุคคลสำคัญที่ทำให้เราผ่านช่วงเวลานั้นมาได้ก็คือแม่อีกแล้ว
แม่คอยโทรหาเพื่อนเราจากรายชื่อติดต่อของรุ่น ว่าเราต้องเรียนวันไหนบ้าง
แม่บอกแม่ไม่รู้หรอกว่าตอนนั้นเราสนิทกับใครบ้าง
แต่ก็คอยโทรหาและบอกเพื่อนให้โทรหาเรา ตามเราไปเรียน คุยกับเราบ้าง
(เรามารู้เรื่องนี้ทีหลังตอนหายแล้ว)

ก่อนหน้าเราจะเป็นที่บ้านเราเลี้ยงลูกแบบให้พึ่งตัวเอง ไปไหน ให้โหนรถเมล์เอง
แต่ตอนเราอยู่ปี 1 แม่คอยขับรถไปส่งเราเข้าแล็ปตลอด และคอยรับกลับเวลาเรียนเสร็จแล้ว

ผลจากการแทบไม่เข้าเรียนเลยในปี 1 นั้น
ทำให้เราเรียนจบปี 1 มาด้วยเกรดเฉลี่ยที่ไม่ค่อยสวยเท่าไร (เยอะ)
คือสองนิดๆ แต่ก็โอเค ไม่ติดโปร

พฤติกรรมช่วงที่เราป่วยก็มีหลายอย่าง ทั้งกินยาเกินขนาด
ไปนั่งข้างระเบียงแบบหวาดเสียว ต่อยกระจกจนบาดข้อมือตัวเอง
กรีดข้อมือแล้วเอาแอลกอฮอล์ราด
(น้องเล่า) ขับรถแบบวิบากบ้าง

ช่วงนั้นบางทีก็คิด ว่าเราไม่สบายจริงๆ หรือว่าเราเรียกร้องความสนใจกันแน่
เพราะช่วงที่เป็น ก็ไม่ได้อยากเป็นอย่างนี้
ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องเป็น ไม่เข้าใจว่าเรื่องธรรมดาทำไมเราทำไม่ได้
แต่อย่างที่เล่ามา เราโชคดีที่คนรอบข้างเข้าใจและคอยดูแล ให้กำลังใจตลอด
ที่บ้านเป็นคนพาไปพบจิตแพทย์เองเสียด้วยซ้ำ ทำให้ได้เริ่มรับการรักษาตั้งแต่แรกๆ
พอรักษาก็กินยาต่อเนื่อง ไม่หยุดยาเอง ทำให้อาการดีขึ้นเรื่อยๆ
ประกอบกับพอเวลาผ่านไป เราเริ่มปรับตัวเข้ากับสังคมในมหาวิทยาลัยได้ดีขึ้น
มีเพื่อนสนิท ทำกิจกรรม พอมีเพื่อน เพื่อนก็ชวนให้ไปเรียน ทำนู่นนี่
ก็เริ่มไปเรียนบ่อยขึ้น ขาดเรียนน้อยลง ผลการเรียนก็ดีขึ้นตามลำดับ

จุดสำคัญอีกเรื่องหนึ่งก็คือ เรามีโอกาสได้ศึกษาปฏิบัติธรรม
แต่ต้องบอกก่อนว่า เราเริ่มไปปฏิบัติธรรมเมื่ออาการเราดีขึ้นมาก
และเราพร้อมที่จะไปเอง ไม่ได้ไปปฏิบัติธรรมเพื่อรักษา
แต่เพราะอยากศึกษาธรรมะ ตอนนั้นไปเข้าคอร์สปฏิบัติเข้มประมาณสองอาทิตย์
กลับมาก็รู้เท่าทันจิตตัวเอง มีสติมากขึ้น แต่ก็กินยารักษาตลอด

จนมามีโอกาสได้หยุดยา ตอนประมาณปิดเทอมใหญ่ปีสอง ขึ้นปีสาม
เป็นช่วงที่เราไปเรียนกับเที่ยวตอนปิดเทอมใหญ่ที่แคนาดาพอดี
รวมเวลาการรักษาทั้งหมดก็ประมาณสองปีกว่าได้ เกือบสามปี
ที่เรากินยาต่อเนื่องตลอดไม่หยุด

ประเด็นที่เราอยากจะบอกก็คือ ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าทุกคนมีสิทธิ์ที่จะหาย
แม้ว่าวันนี้อาจดูไม่มีทาง บางคนต้องผจญกับผลข้างเคียงของยาจนท้อ
พาลไม่อยากกินยาไปก็มี เราว่าถึงท้อนะ แต่ห้ามถอย ให้พยายามรักษาไปเรื่อยๆ
อย่าหยุดยาเอง ผู้ป่วยที่หยุดยามีโอกาสกลับมาเป็นมากกว่าเดิม และรักษายากขึ้น
อีกประเด็นนึงก็อยากจะบอกคนรอบข้าง เพราะคนรอบข้างโดยเฉพาะคนใกล้ชิด
มีส่วนสำคัญมากต่อผู้ป่วย เราโชคดีที่มีคนรอบข้างที่เข้าใจ และให้กำลังใจ
ทั้งครอบครัว และเพื่อน ที่คอยช่วยพยุงกันมาตลอด
และโชคดีที่ตัวเองสามารถยอมรับตัวเองได้ว่าป่วย ยอมที่จะไปหาหมอ เข้ารับการรักษา
จนปัจจุบัน ถึงบางครั้งจะมีช่วงที่อ่อนแอ แต่ก็จะไม่ปล่อยให้ตัวเองแย่นาน
(ไม่เกิน 2 สัปดาห์ criteria ของ depression) คอยสังเกตตัวเองเสมอ ออกกำลังกาย
(อันนี้สำคัญมาก ช่วงไหนออกกำลังกายเป็นประจำ สังเกตตัวเองดู ชีวิตจะดีมาก)
ไปเที่ยวพักผ่อนตามโอกาส

จบเรื่องของตัวเองแค่นี้ก่อน ไว้คราวหน้าจะมาเล่าเรื่องคนรอบข้างบ้าง
อาจเล่าข้ามไปข้ามมาหน่อย อย่างที่บอกคือจำเรื่องตอนตัวเองเป็นไม่ค่อยได้

หวังว่าประสบการณ์ของเราคงเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านไม่มากก็น้อย
จำไว้ว่าบางทีเราอาจคิดว่าเราแย่ที่สุดแล้วตอนนี้ ชีวิตแย่ ไม่มีทางออก
มีแต่ปัญหา แต่ยังไงพรุ่งนี้ก็ต้องมาเสมอ แล้วพอเวลาผ่านไปเรื่อยๆ
พอเรามองย้อนกลับมา เรื่องแย่ๆ เหล่านั้นก็จะกลายเป็นอดีต
ที่คอยหล่อหลอมให้เรามีปัจจุบันที่เข้มแข็งขึ้น

;))